โรคเพมฟิกัส (Pemphigus) อาการ สาเหตุ การรักษาโรคเพมฟิกัส

โรคเพมฟิกัส - พัฒนาการเด็ก

โรคเพมฟิกัส (Pemphigus) เป็นกลุ่มอาการของโรคผิวหนังที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดตุ่มน้ำพองที่มีหนองขึ้นบริเวณผิวหนังหรือเยื่อบุผิวอื่น ๆ เช่น ในดวงตา จมูก ปาก ลำคอ หรืออวัยวะเพศ และเมื่อตุ่มน้ำแตกออกจะกลายเป็นแผลและทำให้รู้สึกเจ็บปวดได้ โรคเพมฟิกัสสามารถพบได้ทุกวัย แต่จะพบมากในวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ แม้จะไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ถือเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องเพื่อควบคุมอาการ เนื่องจากการปล่อยให้มีอาการโดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดการลุกลาม ติดเชื้อ หรือในกรณีร้ายแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อาการของโรคเพมฟิกัส อาการหลักคือเกิดตุ่มน้ำพองขึ้นบนผิวหนังหรือเยื่อบุผิวและสามารถแตกออกได้ง่าย เมื่อกลายเป็นแผลอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดและนำไปสู่การติดเชื้อตามมา ทั้งนี้ อาการของโรคเพมฟิกัสสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้ โรคเพมฟิกัสที่มีการแยกตัวของผิวหนังชั้นลึก (Pemphigus Vulgaris) เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีตุ่มน้ำพองภายในปาก มีลักษณะอ่อนนุ่มและแตกออกได้ง่าย สามารถลุกลามไปสู่ผิวหนังบริเวณอื่นได้ทั่วทั้งร่างกาย ผู้ป่วยมักรู้สึกเจ็บปวดบริเวณที่มีอาการ หากมีตุ่มน้ำภายในปากจะทำให้รับประทานอาหารลำบากกว่าปกติ โรคเพมฟิกัสชนิดนี้จะไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันและมักไม่ทิ้งรอยแผลเป็นบนผิวหนัง แต่ในผู้ที่มีอาการติดเชื้ออาจเกิดรอยแผลเป็นได้ โรคเพมฟิกัสที่มีการแยกตัวของผิวหนังชั้นตื้น (Pemphigus Foliaceus) เป็นประเภทที่พบได้น้อยกว่า ผู้ป่วยจะเริ่มมีตุ่มน้ำพองบริเวณหนังศีรษะหรือใบหน้า และลามไปยังหน้าอก หลังหรือไหล่ แต่มักไม่เกิดภายในปาก ผู้ป่วยจะรู้สึกคันในบริเวณที่มีอาการและมักไม่รู้สึกเจ็บปวด อาการของโรคเพมฟิกัสอาจคล้ายคลึงกับโรคเพมฟิกอยด์ (Bullous Pemphigoid) และโรคเริม เนื่องจากอาการของโรคจะมีตุ่มน้ำขึ้นบนผิวหนังคล้ายกัน จึงอาจเข้าใจผิดว่าเป็นโรคเดียวกัน แต่ตุ่มน้ำของโรคเพมฟิกอยด์จะมีลักษณะแตกได้ยากและพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 […]