กระดูกสะโพกหัก อาการ สาเหตุ การรักษากระดูกสะโพกหัก

กระดูกสะโพกหัก คือการหักของกระดูกต้นขา ถือเป็นอาการบาดเจ็บที่รุนแรง มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เพราะเป็นวัยที่กระดูกเปราะบางและเกิดการแตกหักได้ง่าย ส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด แต่ในบางรายที่มีภาวะแทรกซ้อนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต กระดูกสะโพกหักส่วนใหญ่เป็นการแตกหักบริเวณคอกระดูกต้นขาต่อกับกระดูกเชิงกรานหรือบริเวณคอคอดของกระดูกต้นขา โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนมากมักเป็นผลมาจากการกระแทกจากการหกล้มและกระดูกอ่อนแอลงจากปัญหาสุขภาพบางประการ อาการของกระดูกสะโพกหัก ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักอาจเกิดอาการดังต่อไปนี้ ปวดบริเวณสะโพกหรือขาหนีบอย่างรุนแรง ไม่สามารถยกหรือขยับขาได้ทันทีหลังจากหกล้ม ไม่สามารถยืนหรือลงน้ำหนักด้วยเท้าข้างเดียวกับกระดูกสะโพกที่หัก บริเวณสะโพกแข็งเกร็ง บวม หรือมีรอยฟกช้ำ ขาข้างที่กระดูกสะโพกหักจะดูสั้นผิดปกติหรืออาจมีลักษณะบิดออกไปด้านนอก อย่างไรก็ตาม บางรายอาจมีเพียงอาการเจ็บปวดบริเวณสะโพก ก้น ขาอ่อน ขาหนีบ หรือหลังเท่านั้น แต่ยังสามารถเดินได้เป็นปกติ หากสงสัยว่ากระดูกสะโพกหักควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาทันที สาเหตุของกระดูกสะโพกหัก กระดูกสะโพกหักในคนทั่วไปมักเกิดจากอุบัติเหตุอย่างการถูกรถชน ส่วนคนสูงอายุมักกระดูกสะโพกหักจากการหกล้ม โดยมีปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระดูกสะโพกหักมากขึ้นดังนี้ อายุมาก ด้วยกระดูกที่เสื่อมสภาพลงและมวลกล้ามเนื้อที่น้อยลงไปตามอายุ ผู้สูงอายุจึงมักเกิดปัญหากระดูกหักได้ง่ายกว่าคนวัยอื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาในการมองเห็นหรือการทรงตัวที่มักเสี่ยงต่อการหกล้ม เพศหญิง เมื่อสตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียมวลกระดูกเร็วขึ้น กระดูกจะพรุนและเปราะบางเร็ว ซึ่งจะตรงกันข้ามกับเพศชายที่จะค่อย ๆ สูญเสียมวลกระดูกอย่างช้า ๆ ปัญหาสุขภาพ หากกระดูกสะโพกข้างใดข้างหนึ่งเคยหักมาก่อนก็มีโอกาสสูงที่กระดูกสะโพกอีกข้างจะหักตาม รวมทั้งผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างก็อาจทำให้กระดูกสะโพกเสี่ยงต่อการหักได้ง่ายขึ้น เช่น โรคระบบต่อมไร้ท่ออย่างไทรอยด์เป็นพิษอาจส่งผลให้กระดูกบาง โรคเกี่ยวกับลำไส้อาจลดการดูดซึมของวิตามินดีและแคลเซียมจนกระดูกอ่อนแอ ปัญหาเกี่ยวกับสมองหรือระบบประสาทอาจทำให้ผู้ป่วยหกล้มได้ง่าย อย่างความทรงจำบกพร่อง สมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน […]