กระดูกสะโพกหัก อาการ สาเหตุ การรักษากระดูกสะโพกหัก

กระดูกสะโพกหัก - พัฒนาการเด็ก

กระดูกสะโพกหัก คือการหักของกระดูกต้นขา ถือเป็นอาการบาดเจ็บที่รุนแรง มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เพราะเป็นวัยที่กระดูกเปราะบางและเกิดการแตกหักได้ง่าย ส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด แต่ในบางรายที่มีภาวะแทรกซ้อนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

กระดูกสะโพกหักส่วนใหญ่เป็นการแตกหักบริเวณคอกระดูกต้นขาต่อกับกระดูกเชิงกรานหรือบริเวณคอคอดของกระดูกต้นขา โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนมากมักเป็นผลมาจากการกระแทกจากการหกล้มและกระดูกอ่อนแอลงจากปัญหาสุขภาพบางประการ

อาการของกระดูกสะโพกหัก

กระดูกสะโพกหัก อาการ - พัฒนาการเด็ก

ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักอาจเกิดอาการดังต่อไปนี้ ปวดบริเวณสะโพกหรือขาหนีบอย่างรุนแรง ไม่สามารถยกหรือขยับขาได้ทันทีหลังจากหกล้ม ไม่สามารถยืนหรือลงน้ำหนักด้วยเท้าข้างเดียวกับกระดูกสะโพกที่หัก บริเวณสะโพกแข็งเกร็ง บวม หรือมีรอยฟกช้ำ ขาข้างที่กระดูกสะโพกหักจะดูสั้นผิดปกติหรืออาจมีลักษณะบิดออกไปด้านนอก อย่างไรก็ตาม บางรายอาจมีเพียงอาการเจ็บปวดบริเวณสะโพก ก้น ขาอ่อน ขาหนีบ หรือหลังเท่านั้น แต่ยังสามารถเดินได้เป็นปกติ หากสงสัยว่ากระดูกสะโพกหักควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาทันที

สาเหตุของกระดูกสะโพกหัก

กระดูกสะโพกหัก สาเหตุ - พัฒนาการเด็ก

กระดูกสะโพกหักในคนทั่วไปมักเกิดจากอุบัติเหตุอย่างการถูกรถชน ส่วนคนสูงอายุมักกระดูกสะโพกหักจากการหกล้ม โดยมีปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระดูกสะโพกหักมากขึ้นดังนี้

  • อายุมาก ด้วยกระดูกที่เสื่อมสภาพลงและมวลกล้ามเนื้อที่น้อยลงไปตามอายุ ผู้สูงอายุจึงมักเกิดปัญหากระดูกหักได้ง่ายกว่าคนวัยอื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาในการมองเห็นหรือการทรงตัวที่มักเสี่ยงต่อการหกล้ม
  • เพศหญิง เมื่อสตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียมวลกระดูกเร็วขึ้น กระดูกจะพรุนและเปราะบางเร็ว ซึ่งจะตรงกันข้ามกับเพศชายที่จะค่อย ๆ สูญเสียมวลกระดูกอย่างช้า ๆ
  • ปัญหาสุขภาพ หากกระดูกสะโพกข้างใดข้างหนึ่งเคยหักมาก่อนก็มีโอกาสสูงที่กระดูกสะโพกอีกข้างจะหักตาม รวมทั้งผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างก็อาจทำให้กระดูกสะโพกเสี่ยงต่อการหักได้ง่ายขึ้น เช่น โรคระบบต่อมไร้ท่ออย่างไทรอยด์เป็นพิษอาจส่งผลให้กระดูกบาง โรคเกี่ยวกับลำไส้อาจลดการดูดซึมของวิตามินดีและแคลเซียมจนกระดูกอ่อนแอ ปัญหาเกี่ยวกับสมองหรือระบบประสาทอาจทำให้ผู้ป่วยหกล้มได้ง่าย อย่างความทรงจำบกพร่อง สมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมองและปลายประสาทอักเสบ เป็นต้น
  • การใช้ยาบางชนิด การใช้ยาสเตียรอยด์อย่างเพรดนิโซนอาจทำให้กระดูกอ่อนแอได้หากใช้ติดต่อกันในระยะยาว รวมถึงยาที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางบางชนิดอาจทำให้เวียนศีรษะและเสี่ยงต่อการหกล้มได้มากขึ้น เช่น ยานอนหลับ ยาต้านอาการทางจิต ยากล่อมประสาท เป็นต้น
  • ร่างกายขาดสารอาหาร อาหารที่เรารับประทานในแต่ละวันมีสารอาหารหลายชนิดที่ช่วยในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง โดยเฉพาะโปรตีน วิตามินดี หรือแคลเซียม หากร่างกายขาดสารอาหารเหล่านี้ตั้งแต่อายุน้อยก็อาจทำให้มวลกระดูกลดต่ำลงกว่าที่ควรจะเป็น จึงเสี่ยงต่อการแตกหักเมื่ออายุมากขึ้น ทั้งนี้ โรคการกินผิดปกติอย่างโรคอะนอเร็กเซียหรือโรคบูลิเมียอาจส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อกระบวนการสร้างกระดูกลดลง กระดูกจึงอาจอ่อนแอและแตกหักได้ง่ายเช่นกัน
  • วิถีชีวิต การขาดการออกกำลังกายที่เพิ่มมวลกระดูกอาจเสี่ยงต่อการหกล้มและกระดูกหักมากกว่าผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งหรือการเดิน ยิ่งไปกว่านั้น การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์บ่อยครั้งอาจส่งผลต่อกระบวนการสร้างและซ่อมแซมกระดูก ทำให้สูญเสียมวลกระดูกได้

การวินิจฉัยกระดูกสะโพกหัก

ในเบื้องต้นแพทย์จะตรวจดูสัญญาณของกระดูกสะโพกหักอย่างอาการบวม รอยช้ำ หรืออาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น จากนั้นจะให้ผู้ป่วยเข้ารับการเอกซเรย์เพื่อดูรอยร้าว สภาพโดยรวมและความผิดปกติของกระดูกบริเวณสะโพก ในกรณีที่การเอกซเรย์เห็นไม่ชัดเจน แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การทำซีที สแกน (CT Scan) หรือการทำเอ็มอาร์ไอ สแกน (MRI Scan) ซึ่งจะช่วยถ่ายภาพของกระดูกได้ละเอียดกว่าการเอกซเรย์ทั่วไป

การรักษากระดูกสะโพกหัก

กระดูกสะโพกหัก การรักษา - พัฒนาการเด็ก

เมื่อผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักแพทย์จะพิจารณาและวางแผนการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

การผ่าตัด

การผ่าตัดเป็นวิธีที่นิยมใช้ในการรักษาสะโพกหัก แบ่งออกเป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับจุดที่กระดูกสะโพกหักและความรุนแรงของอาการ ซึ่งแพทย์จะต้องพิจารณาร่วมกับอายุ สภาพร่างกายและจิตใจ และปัญหาสุขภาพส่วนตัวของผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดด้วย นอกจากนี้ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด แพทย์อาจฉีดยาแก้ปวดเข้าทางหลอดเลือดดำร่วมกับฉีดยาชาบริเวณสะโพกกระดูกเพื่อลดอาการเจ็บปวด

สำหรับการผ่าตัดที่นำใช้รักษาอาการสะโพกหัก เช่น

  • การผ่าตัดด้วยการใส่โลหะ อย่างสกรู แผ่นเหล็ก หรือหมุด เพื่อยึดตรึงกระดูกที่หักเข้าไว้ด้วยกัน
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมบางส่วนหรือทั้งหมด เพื่อใส่ข้อสะโพกเทียมเข้าไปแทนที่หัวกระดูกต้นขา หรือแทนที่ทั้งหัวกระดูกต้นขาและเบ้าสะโพก ทั้งนี้ ขึ้นกับลักษณะของกระดูกที่หัก และการพิจารณาของแพทย์
Share on facebook
Facebook
Share on pinterest
Pinterest
Share on twitter
Twitter
Share on pinterest
Pinterest

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *